แต่ถึงอย่างไรก็ยังไม่เกินความสามารถของทันตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ที่จะช่วยเหลือคนไข้เหล่านั้นได้ เพียงแต่วิธีการรักษาค่อนข้างยุ่งยากและสลับซับซ้อน ต้องใช้ระยะเวลาและค่าใช้จ่ายเพิ่มมากขึ้นเท่านั้น ซึ่งทันตแพทย์ทุกคน มิได้ปรารถนาที่จะให้ผู้ป่วยตกอยู่ในสภาพเช่นนั้นเพราะงานรักษารากฟันเป็นงานที่ลำบากมิใช่น้อย โดยเฉพาะการรักษารากฟันกรามซึ่งมี 3 - 4 ราก ดังนั้นเพื่อให้การรักษาเกิดผลสำเร็จตามความต้องการ จึงจำเป็นต้องเสียเวลาไปพบทันตแพทย์หลายครั้งในการรักษารากฟัน
วิธีรักษารากฟัน หลักการสำคัญในการรักษารากฟันคือ ถ้าฟันของผู้ป่วยมีการติดเชื้อในโพรงประสาท การรักษาก็จะทำโดยการใส่ยาประเภทแคลเซียมไฮดรอกไซด์ เพื่อฆ่าเชื้อ เมื่อมั่นใจแล้วว่าภายในคลองรากฟันปราศจากเชื้อ ก็จะทำการอุด และครอบฟันต่อไป
ขั้นตอนการรักษารากฟัน มีรายละเอียดที่สำคัญดังนี้
1. กรอฟันหาคลองรากฟันซึ่งเป็นรูเล็กๆ อยู่ต่อจากโพรงประสาท ถึงปลายรากฟัน
2. ขยายคลองรากฟันให้ใหญ่ขึ้น เพื่อใช้น้ำยาล้าง ซับให้แห้ง และใส่ยาฆ่าเชื้อโรคได้
3. ปิดโพรงประสาทฟันด้วยวัสดุอุดชั่วคราว เพื่อให้ยาออกฤทธิ์ประมาณ 3 ถึง 7 วัน
4. ล้าง และขยายคลองรากฟัน พร้อมเปลี่ยนยาฆ่าเชื้อโรคใหม่ และอุดปิดโพรงประสาทฟันด้วยวัสดุอุดชั่วคราวกลับไปอีกครั้ง ทำเช่นนี้ 4 - 5 ครั้ง จนกว่าหนองจะแห้ง ไม่มีเชื้อโรคและสิ่งสกปรกตกค้าง
5. เมื่อหนองแห้งไม่มีเชื้อโรคและสิ่งสกปรกตกค้าง ทันตแพทย์ก็จะทำการอุดปิดโพรงประสาทฟันถาวรโดยใช้วัสดุจำพวกยาง อุดตั้งแต่ปลายรากฟันถึงพื้นโพรงประสาทฟัน และปิดทับด้วยวัสดุทางทันตกรรมจำพวกซีเมนต์ ( Cement) และอมัลกั้ม ( Amalgum ) ซึ่งมีสีคล้ายเงินหรือกระดาษดีบุกที่หุ้มซองบุหรี่มีคุณสมบัติให้ความแข็งแรงได้ดี จึงใช้อุดฟันกรามที่ต้องรับแรงบดเคี้ยวมากๆ สำหรับฟันหน้าที่ต้องการความสวยงาม และไม่ต้องรับแรงบดเคี้ยวมาก ก็จะอุดด้วยวัสดุที่มีสีเหมือนฟันธรรมชาติ
6. ทันตแพทย์จะทิ้งระยะเพื่อรอดูอาการซึ่งขึ้นอยู่กับสภาพของฟัน และเมื่อแน่ใจว่าการรักษารากฟันประสบความสำเร็จ ทันตแพทย์ก็จะทำการครอบฟันด้วยวัสดุตามความเหมาะสม
การรักษารากฟัน สามารถเก็บรักษาฟันไว้ใช้งานได้ต่อไป ดีกว่าการใส่ฟันปลอม เพราะฟันที่รักษารากแล้วก็เหมือนฟันในปากซี่อื่นๆ คือ มีเบ้ากระดูกยึดให้ฟันแน่นมั่นคงแข็งแรง และให้ความรู้สึกที่ดีกว่าการใส่ฟันปลอม